วันอังคารที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2554

มงคล ๓๘

  ประพฤติธรรม

              การประพฤติธรรม หมายถึง การประพฤติปฏิบัติตนถูกต้องตามธรรม ฝึกฝนอบรมตนให้มีคุณธรรม คือ การประพฤติกุศลกรรมบถ 10 ประการ ได้แก่

1.1 กายสุจริต คือ มีความสุจริตทางกาย ทำสิ่งที่ดีงามถูกต้อง ประพฤติชอบด้วยกาย 3 ประการ คือ
1) ปาณาติปาตา เวรมณี หมายถึง ละเว้นการฆ่า การสังหาร การบีบคั้นเบียดเบียน มีเมตตากรุณา ช่วยเหลือเกื้อกูลสงเคราะห์กัน
2) อทินาทานา เวรมณ หมายถึง ละเว้นการแย่งชิงลักขโมยและการเอารัดเอาเปรียบ; เคารพในทรัพย์สินของกันและกัน
3) กามาสุ มิจจฉาจารา เวรมณ หมายถึง ละเว้นการประพฤติผิดล่วงละเมิดในของรักของหวงแหนของผู้อื่น; ไม่ข่มเหงจิตใจหรือทำลายลบหลู่เกียรติและวงศ์ตระกูล

1.2 วจีสุจริต คือ มีความสุจริตทางวาจา พูดสิ่งที่ดีงามถูกต้อง ประพฤติชอบด้วยวาจา มี 4 ประการคือ
4) มุสาวาทา เวรมณหมายถึง ละเว้นการพูดเท็จ โกหกหลอกลวง กล่าวแต่คำสัตย์ ไม่จงใจพูดให้ผิดจากความจริง เพราะเห็นแก่
ผลประโยชน์ใด ๆ
5) ปิสุณาย วาจาย เวรมณี หมายถึง ละเว้นการพูดส่อเสียด ยุยง สร้างความแตกแยก; พูดแต่คำที่สมานและส่งเสริมสามัคคี
6) ผรุสาย วาจาย เวรมณี หมายถึง ละเว้นการพูดคำหยาบคาย สกปรกเสียหาย , พูดแต่คำสุภาพ นุ่มนวล ชวนฟัง
7) สัมผัปปลาปา เวรมณี หมายถึง ละเว้นการพูดเหลวไหลเพ้อเจ้อ พูดแต่คำจริง มีเหตุผล มาระประโยชน์ ถูกกาลเทศะ

1.3 มโนสุจริต คือ มีความสุจริตทางใจ คิดสิ่งที่ดีงามถูกต้อง ประพฤติชอบด้วยใจ มี 3 ประการ คือ
8) อนาภิชญา หมายถึง ไม่ละโมบ ไม่เพ่งเล็งคิดหาทางเอาแต่จะได้ คิดให้ คิดเสียสละ ทำใจให้เผื่อแผ่กว้างขวาง
9) อพยาบาท หมายถึง ไม่คิดร้ายมุ่งเบียดเบียน หรือจ้องที่จะทำลาย ตั้งความปรารถนาดี แผ่ไมตรี มุ่งให้เกิดประโยชน์สุขแก่กัน
10) สัมมาทิฎฐหมายถึง มีความเห็นถูกต้อง เป็นสัมมาทิฎฐิ เข้าใจในหลักกรรมว่า ทำดีมีผลดี ทำชั่วมีผลชั่ว รู้เท่าทันความจริงที่เป็นธรรมดาของโลกและชีวิต มองเห็นความเป็นไปตามเหตุปัจจัย

            การประพฤติธรรมตามหลักกุศลกรรมบถ 10
เป็นสิ่งที่เป็นความดี ก่อให้เกิดประโยชน์คือ ทำให้เกิดความเรียบร้อยทางกาย วาจา ทำให้จิตใจผ่องใส สงบและมีความสว่าง ทำให้เกิดความสุข ความเจริญ นอกจากก่อให้เกิดประโยชน์ดังที่กล่าวมาแล้ว สุชิราภรณ์ บริสุทธิ์ ได้กล่าวถึงประโยชน์ของผู้ประพฤติธรรมไว้ 10 ประการคือ

1. เป็นมหากุศล
2. เป็นผู้ไม่ประมาท
3. เป็นผู้รักษาสัจธรรม
4. เป็นผู้นำศาสนาให้เจริญ
5. เป็นสุขในโลกนี้และโลกหน้า
6. ไม่ก่อเวรก่ออภัยแก่ใคร
7. เป็นผู้ให้อภัยและสรรพสัตว์
8. เป็นผู้ดำเนินตามปฎิปทาของนักปราชญ์
9. สร้างความเจริญความสงบสุขแก่ตนเอง และส่วนรวม
10. เป็นผู้สร้างทางมนุษย์ สวรรค์ พรหม นิพพาน
      
            เว้นจากความชั่ว หมายถึง การละเว้นจากากทำบาป การงดเว้นจากความชั่วร้าย หรือการงดเว้นเหตุแห่งความทุกข์ทั้งปวงหรือเรื่องที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อน ความชั่วในที่นี้หมายถึง กรรมกิเลส คือกรรมที่ทำให้เศร้าหมอง มี 4 อย่าง คือ

1. ปาณาติบาต การฆ่าสัตว์
2. อทินนาทาน การลักทรัพย์
3. กาเมสุมิจฉาจาร การประพฤติผิดในกาม
4. มุสาวาท การพูดเท็จ

             การเว้นจากความชั่ว มี 3 วิธีคือ
1. สัมปัตตวิรัต หมายถึง งดเว้นในเมื่อประจวบเข้ากับเหตุนั้นๆ คือ ไม่ได้คิดที่จะงดเว้นมาก่อน แต่เมื่อเหตุนั้น ๆ มาถึงตัวเข้า จะล่วงละเมิดก็ได้ แต่ไม่ล่วงเกิน เช่น เห็นสัตว์ซึ่งถ้าจะฆ่าก็ฆ่าได้แต่ไม่ฆ่า เห็นทรัพย์ ซึ่งถ้าจะขโมยก็ได้แต่ไม่ทำ เห็นหญิงสาวซึ่งถ้าจะล่วงเกินก็ได้แต่ไม่ทำ มีโอกาสจะพูดเท็จก็ได้ แต่ไม่พูด เพราะนึกถึงชาติ ตระกูลและฐานะของตน เกิดหิริโอตตัปปะ คือความละอายและความเกรงกลัวเกิดขึ้นในใจ จึงงดเว้นทำความชั่วนั้น ๆ ได้

2. สมาทานวิรัติ หมายถึง งดเว้นเพราะสมาทาน คือ ได้ปฏิญาณไว้ว่าจะไม่ทำอย่างนั้น ๆ เช่น รับศีลแล้วก็รักษาได้อย่างเคร่งครัด

3. สมุจเฉทวิรัต หมายถึง งดเว้นบาปได้เด็ดขาด คือ ไม่ทำความชั่วตลอดชีวิต เป็นการงดเว้นของพระอริยบุคคล
การงดเว้นจากความชั่ว คือการงดเว้นเหตุแห่งความทุกข์ไม่ทำเรื่องที่จะให้ถึงความเดือดร้อนจึงไม่มีทุกข์ ไม่มีความเดือดร้อน มีแต่ ความสุข สงบ ร่มเย็น ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งตนเองและผู้อื่น จึงเป็นมงคลอันสูงสุด

 การดื่มน้ำเมา เป็นอบายมุขอย่างหนึ่ง คำว่า อบายมุข แปลว่า เหตุหรือทางแห่งความเสื่อม หมายถึง ทางที่ผู้ใดก็ตามเมื่อเข้าไปลองเสพแล้ว ถ้าไม่ยอมละเลิกเสียจะต้องถึงความพินาศย่อยยับหรือเสื่อมโทรมไปในที่สุดการดื่มสุรา(รวมยาเสพติดทุกชนิด)เป็นทางแห่งความเสื่อมโทรมเป็นที่ตั้งของความประมาท เป็นเหตุให้เกิดโทษ 6 อย่าง ได้แก่ ทรัพย์ สมบัติเสื่อมสูญไป ก่อการทะเลาะวิวาท เป็นสาเหตุให้เกิดโรคภัยต่าง ๆ เป็นเหตุให้เสียชื่อเสียง เป็นเหตุให้ไม่เกิดความอาย(ไร้ยางอาย) เป็นเหตุให้บั่นทอนกำลังสติปัญญา ดังคำบาลีกล่าวว่า
        สุราเมรยมชฺชปฺปมาทฎฐานานุโยโค โข คหปติปฺตฺต โภคานํ อปายมุขนฺติ

ความว่า ดูก่อนคฤหบดีบุตร การตามประกอบการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะทั้งหลาย

        คำว่า “มัชชะ” นั้นหมายถึง สิ่งที่เสพเข้าไปในร่างกายแล้ว เกิดปฏิกิริยาสนองตอบทำให้สติขาดความยั้งคิด เป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ซึ่งเรียกทั่วไปว่า สิ่งเสพติดให้โทษ เช่น สุรา เมรัย กระแช่ น้ำตาลเมา เบียร์ ฝิ่น เฮโรอีน กัญชา ยาบ้าและยาอี เป็นต้นตลอดถึงสิ่งเสพติดทั้งหลายที่สังเคราะห์ขึ้นด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ เมื่อเสพเข้าไปแล้ว ทำให้มึนเมา ก็รวมอยู่ในมัชชะนี้ทั้งนั้น

        ในที่นี้จะขอกล่าวถึง มัชชะ ที่หมายถึงเฉพาะน้ำเมาที่ดื่มเข้าไปแล้ว เป็นที่ตั้งแห่งความประมาท 10 อย่าง คือ สุรา 5 อย่าง เมรัย 5 อย่าง ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสไว้ในวิภังค์แห่งสุราปานสิกขาบทว่าสุรา มี 5 ชนิด คือ
1) สุราที่ทำด้วยแป้ง
2) สุราที่ทำด้วยขนม
3) สุราที่ทำด้วยข้าวสุก
4) สุราที่ใส่เชื้อ
5) สุราที่ปรุงด้วยเครื่องปรุงมีมะขามป้อม เป็นต้น

เมรัย มี 5 ชนิด คือ
1) น้ำหมักดองด้วยดอกไม้
2) น้ำหมักดองด้วยผลไม้
3) น้ำหมักดองด้วยผลจันทร์
4) น้ำหมักดองด้วยน้ำอ้อย
5) น้ำหมักดองด้วยรสแห่งสมอและมะขามป้อม เป็นต้น

         การดื่มสุราและเมรัย เป็นการบ่อนทำลายศีลธรรมอันดีงามโดยไม่ยั้งคิด เพราะผู้ดื่มจนเมามายแล้วจะต้องประมาท หลงลืมตัว ไร้ความสำนึกผิดชอบชั่วดี เป็นเหตุให้กิเลสกำเริบเสิบสาน ชักพาทำให้ทำความชั่วได้ทุกอย่าง คือยั่วยุให้ลุ่มหลงเกิดขึ้นในใจจนไม่มีสติคอยยับยั้งทำให้เกิดความโลภทำให้เกิดความหลงและเป็นทางให้เกิดความโกรธตามมา เมื่อความโลภ ความโกรธ ความหลงเกิดขึ้นแล้ ก็บังคับให้คนทำตามอำนาจของกิเลส ก่อให้ทำความชั่วทั้งกาย ทางวาจาและทางใจโทษแห่งการดื่มน้ำเมา มี 6 ประการคือ

1. ทรัพย์สมบัติเสื่อมสูญ กล่าวคือ ผู้ที่ระเริงหลงอยู่แต่ในสิ่งเสพติด ย่อมจับจ่ายใช้สอยทรัพย์สมบัติเดิมเท่านั้น ไม่ขวนขวายหาทรัพย์สมบัติใหม่ เมื่อของเก่าหมดไป ของใหม่ก็ไม่เกิดขึ้น จนในที่สุด เหลือแต่ตัวเปล่าไร้ทรัพย์สมบัติเป็นคนอยากจนเข็ญใจ หาที่พึ่งไม่ได้

2. ก่อการทะเลาะวิวาท คือ เมื่อสติสัมปชัญญะหมดความรู้สึกไป ปัญญาคิดถูกคิดผิดก็ไม่มี จะทะเลาะเบาะแว้งกันย่อมเกิดได้โดยง่ายเช่น ทะเลาะกันด้วยคำพูดที่ไม่น่าฟัง หยาบคาย ไร้สาระประโยชน์ มีแต่ความแตกร้าวทางความคิด ไม่ปรองดองสามัคคีกันชักนำให้ใช้พละกำลังทางร่างกายเข้าทำร้ายซึ่งกันและกันถึงกับได้รับบาดเจ็บก็มีไม่น้อย

3. เป็นสาเหตุให้เกิดโรคภัยชนิดต่าง ๆ ได้ดี แต่เมื่อดื่มเข้าไปแล้วมาก ๆ สารพิษของยาเสพติดจะเข้าไปสะสมในร่างกายมากขึ้นเรื่อย ๆซึ่งเกินความจำเป็นสำหรับร่างกาย แต่ร่างกายก็ยังถูกยัดเยียดให้รับ เมื่อหมักหมมมากเข้า ก็เป็นบ่อเกิดของโรคภัยต่าง ๆ

4. เป็นเหตุทำให้ทำลายชื่อเสียงเกียรติยศ ผู้คนเมื่อมึนเมาย่อมขาดสติสัมปชัญญะ ไม่รู้จักรับผิดชอบชั่วดี มีพฤติกรรมแสดงออกทั้งทางกาย วาจา และใจในทางทุจริต จึงต้องถูกตำหนิติเตียน ถูกลงโทษ หมดความเชื่อถือ ก่อให้เกิดการเสียชื่อ เสียงเกียรติยศในที่สุด

5. เป็นเหตุให้ไม่เกิดความอาย เพราะเมื่อเสพเข้าไปแล้วย่อมขาด หิริโอตัปปะ คือ ความละอายและเกรงกลัวต่อความชั่ว ทำให้ใจกล้าทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ หรือไม่เหมาะไม่ควร เป็นต้น

6. บั่นทอนกำลังปัญญาให้เสื่อมลง ปกติปัญญาจะเกิดขึ้นหรือใช้การได้ดีนั้น ต้องอาศัยการสำรวมกาย วาจาและใจ ให้เรียบร้อยสงบนิ่ง แล้วมีสติคอยกำกับอยู่ตลอดเวลา แต่เมื่อเสพสิ่งเสพติดเข้าไปแล้ว จะทำให้การกลับตรงกันข้าม คือ เป็นเหตุบั่นทอนปัญญาให้เลื่อมลง หยุดความยั้งคิด ความรับผิดชอบชั่วดีในการกระทำต่าง ๆ นำความคิดไปสู่ทางเสื่อมโดยส่วนเดียว

        กล่าวโดยสรุป การงดเว้นอบายมุขทุกประเภท เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ได้ประสบแต่สิ่งที่ดี โดยเฉพาะการงดเว้นสิ่งเสพติดทั้งหลายเป็นมงคลชีวิต พระพุทธองค์ได้แสดงอานิสงส์ (ประโยชน์) ไว้ว่า เป็นคนที่มีความเฉลียวฉลาดรู้ทันเหตุการณ์ในอดีต อนาคตและปัจจุบัน มีสติมั่นคงทุกเมื่อ ไม่เป็นบ้า ไม่หลงผิด ไม่หลงงมงาย ไม่มัวมัว ไม่พลั้งเผลอ ไม่หลงไหล ไม่สะดุ้งหวาดผวา ไม่มีเรื่องรำคาญใจ ไม่มีใครริษยา นอกจากนั้นยังก่อให้เกิดความสุข มีคนเคารพยำเกรง ชอบพูดแต่ความจริงไม่มีใครพูดส่อเสียด ไม่มีใครพูดหยาบคาย ไม่เกียจคร้าน ไม่มีความโลภ โกรธ หลง มีความละอายแก่ใจ รู้จักกลัว มีความเห็นถูกต้อง มีสติปัญญาฉลาดรู้เท่าทันในความเจริญและความเสื่อม เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น