วันอังคารที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2554

สุข ๒

สุข 2 (happiness)



        ความสุข คือความดับทุกข์การสิ้นทุกข์ (นิโรธ) ทั้งปวง ความดับทุกข์ หมายถึง หมดความทุกข์ บรรลุความสุขอันสูงสุด ความสุขมีความสำคัญมากในการปฏิบัติธรรมทางพระพุทธศาสนา อาจกล่าวได้ว่า พุทธจริยธรรมไม่แยกส่วนต่างหากจากความสุข เริ่มตั้งแต่ขั้นต้นในการทำความดีหรือกรรมดีทั่ว ๆ ไปที่เรียกว่า บุญ ก็มีพุทธพจน์ตรัสว่า “บุญเป็นเรื่องของความสุข” ในการบำเพ็ญเพียรทางจิตหรือเจริญภาวนา ความสุขก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เกิดสมาธิ ดังพุทธพจน์ ว่า “ผู้มีสุข จิตย่อมตั้งมั่น(เป็นสมาธิ)” และเมื่อจิตเป็นสมาธิบรรลุฌานแล้ว ความสุขก็เป็นองค์ประกอบของฌาน และสุขที่ประณีตขึ้นไปอีก คือจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา คือ นิพพาน ก็เป็นความสุข และเป็นบรมสุขคือ สุขสูงสุดอีกด้วย นอกจากนั้น จุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนาที่เป็นบรมสุขหรือโพธินั้น ก็พึงบรรลุได้ด้วยความสุข หรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์ สุข 2 ในที่นี้หมายถึง ความสุข 2 ลักษณะคือ

1. สามิสสุข (sensual happiness) หมายถึง ความสุขทางวัตถุ คือความสุขที่เกิดจากกามคุณ หรือความสุขทางโลกีย์ เช่นความสุขที่เกิดจากการได้เห็นรูป ได้ลิ้มรส ได้ดมกลิ่น ได้ยินเสียง และการสัมผัส เป็นที่พึงพอใจ เป็นที่น่าใคร่น่าปารถนา เป็นต้น

2. นิรามิสสุข (spirituall happiness) หมายถึง ความสุขทางใจ คือ ความสุขปลอดโปร่งเพราะใจสงบ หรือได้รู้แจ้งตามความเป็นจริงเป็นความสุขที่ไม่อิงอาศัยวัตถุ เป็นต้นบุพพนิมิตของมัชฌิมปฏิปทา

        บุพพนิมิตของมัชฌิมปฏิปทา ก็คือบุพภาคของการศึกษา หมายถึง ส่วนเบื้องต้นของการศึกษา นั่นคือ “สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ” เป็นองค์ประกอบสำคัญของมรรค ในฐานะที่เป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิบัติธรรม หรือเป็นขั้นเริ่มแรกในระบบการศึกษาตามหลักการของพระพุทธศาสนา และเป็นธรรมที่ต้องพัฒนาให้บริสุทธิ์ ชัดเจน เป็นอิสระมากขึ้นตามลำดับ จนกลายเป็นการตรัสรู้ในที่สุด

        สัมมาทิฎฐิ คือปัญญาชั้นสูงที่เกิดจาการสั่งสอนอบรมในด้านจิตใจ จนเห็นสัจจะทั้งปวงว่าอะไรควรข้องแวะ อะไรควรละอย่างชัดเจน การจัดการศึกษาจนได้ปัญญาประเภทสัมมาทิฎฐิ คือการวางรากฐานความถูกต้องให้แก่วิชาการทั้งปวง ความรู้ใด ๆ ก็ตามที่ตั้งอยู่บนสัมมาทิฎฐิ ล้วนเป็นความรู้ที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่ใคร แต่จะสร้างสรรค์ประโยชน์ฝ่ายเดียว พื้นฐานสำคัญของการเรียนการสอนวิชาต่างๆ ต้องมีสัมมาทิฏฐิเป็นแกนกลาง พระพุทธองค์ก็ได้ชี้ชัดว่าการเกิดสัมมาทิฏฐิมาจากเหตุสองอย่าง คือ

1. ปรโตโฆสะ คือปัจจัยกระตุ้นการเรียนรู้จากภายนอก เช่น การแนะนำ การถ่ายทอด การโฆษณา คำบอกเล่า ตลอดจนการเลียนแบบจากพ่อ แม่ ครู เพื่อน ซึ่งหมายเอาเฉพาะการเรียนจากส่วนที่ดีงามถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับฟังธรรม ความรู้ หรือคำแนะแนะนำจากบุคคลที่เป็นกัลยาณมิตร บุคคลที่ทรงคุณธรรม เป็นต้น

2. โยนิโสมนสิการ
คือปัจจัยกระตุ้นการเรียนรู้จากภายใน หมายถึงการคิดอย่างแยบคาย หรือความรู้จักคิด คิดอย่างมีระบบ คิดอย่างมีกระบวนการ คิดรอบด้าน หรือคิดตามแนวทางปัญญา คือรู้จักมอง รู้จักพิจารณาสิ่งทั้งหลายตามสภาวะ ตามความเป็นจริง ซึ่ง โยนิโสมนสิการ เป็นองค์ประกอบภายใน ได้แก่ปัจจัยภายในตัวบุคคล เรียกว่า วิธีการแห่งปัญญา นั่นก็คือ วิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการเป็นวิธีคิดที่ก่อให้เกิดปัญญา

         ปัจจัยทั้งสองอย่างนี้ย่อมสนับสนุนซึ่งกันและกัน สำหรับคนสามัญซึ่งมีปัญญาไม่แก่กล้า ย่อมต้องอาศัยการแนะนำชักจูงจากผู้อื่น (ปรโตโฆสะ) และคล้อยตามคำแนะนำชักจูงที่ฉลาดได้ง่าย แต่ก็จะต้องฝึกหัดให้สามารถใช้ความคิดอย่างถูกวิธี (โยนิโสมนสิการ) ด้วยตนเองได้ด้วย จึงจะก้าวหน้าไปถึงที่สุดได้ ส่วนคนที่มีปัญญาแก่กล้าย่อมรู้จักใช้โยนิโสมนสิการได้ดีกว่า แต่อย่างไรก็ตามก็อาจต้องอาศัยคำแนะนำที่ถูกต้องเป็นเครื่องนำทางในเบื้องต้น และเป็นเครื่องช่วยส่งเสริมให้ก้าวหน้าไปได้รวดเร็วยิ่งขึ้นในระหว่างการฝึกอบรม
การสร้างเสริมสัมมาทิฏฐิ ด้วยปรโตโฆสะ ก็คือ วิธีการที่เริ่มต้นด้วยศรัทธาและอาศัยศรัทธาเป็นสำคัญ เมื่อนำมาใช้ปฏิบัติในระบบการศึกษาอบรม จึงต้องพิจารณาที่จะให้ได้รับการแนะนำชักจูงสั่งสอนอบรมที่ได้ผลดีที่สุด คือ ต้องมีผู้สั่งสอนอบรมที่เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติมีความรู้ความสามารถและใช้วิธีการอบรมสั่งสอนที่ได้ผล ดังนั้นในระบบการศึกษาอบรมจึงจำกัดให้ได้ในปรโตโฆสะที่มุ่งหมายด้วยหลักที่เรียกว่ากัลยาณมิตร (ผู้แนะนำสั่งสอนที่ดี เพื่อนที่ดี สภาพแวดล้อมที่ดี) ส่วนโยนิโสมนสิการ เป็นตัวหลักการใช้ปัญญา ซึ่งจะต้องพิจารณาว่าควรใช้ความคิดให้ถูกต้องอย่างไร เมื่อนำปัจจัยทั้งสองมาประกอบกัน นับว่า กัลยาณมิตร เป็นองค์ประกอบภายนอก และโยนิโสมนสิการ เป็นองค์ประกอบภายใน


 ดรุณธรรม

         ดรุณธรรม เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วัฒนมุข หมายถึง ธรรมที่เป็นหนทางแห่งความสำเร็จ คือ การเปิดประตูสู่ความเจริญก้าวหน้า ดำเนินตามหลักธรรมที่เป็นทวารแห่งประโยชน์สุข หรือข้อปฏิบัติที่เป็นดุจประตูชัยอันเปิดออกไปสู่ความเจริญก้าวหน้าของชีวิต มี 6 ประการคือ

1. อโรคยะ หมายถึง การรักษาสุขภาพดี มีลาภอันประเสริฐ คือความไร้โรคทั้งทางจิตและทางกาย
2. ศีล หมายถึง การมีระเบียบวินัยดี มีความประพฤติที่ดี มีมารยาทดีงาม ไม่ก่อความเดือดร้อนแก่สังคม
3. พุทธานุมัต หมายถึง ได้คนดีเป็นแบบอย่าง ศึกษาเยี่ยงอย่าง นิยมแบบอย่างของมหาบุรุษพุทธชน หรือบุคคลผู้มีความประพฤติของศีลธรรมอันดีงาม
4. สุตะ หมายถึง การตั้งใจเรียนให้รู้จริง คือการศึกษาเล่าเรียน ค้นคว้าให้รู้ให้เชี่ยวชาญ ใฝ่สดับตรับฟังเหตุการณ์ต่าง ๆ ให้รู้เท่าทัน
5. ธรรมานุวัต หมายถึง ทำแต่สิ่งที่ถูกต้องดีงาม คือ ดำรงมั่นในสุจริต ทั้งชีวิตและการงาน โดยดำเนินตามหลักธรรม
6. อลีนตา หมายถึง มีความขยันหมั่นเพียร คือมีกำลังใจแข็งกล้า ไม่ท้อถอยเฉื่อยชา เพียรพยายามหาความก้าวหน้าเรื่อยไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น